top of page

สิ้นสุดภาวะ “โลกร้อน” สู่ยุค “โลกเดือด”

แม้อากาศจะร้อนเพียงใด แต่บางพื้นที่กลับมีฝนตกหนักรุนแรงจนน้ำท่วม นี่เป็นเพียงผลกระทบบางส่วนที่มาจากภาวะโลกเดือด (Global boiling)


ภาวะโลกร้อนสู่ภาวะโลกเดือด

โลกเดือดคืออะไร?

"โลกเดือด" เป็นภาวะเปลี่ยนผ่านจาก "โลกร้อน" ที่เรือนกระจก (Green house effect) มีความหนาแน่นมากขึ้น จนทำให้ไม่สามารถระบายความร้อนที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ การเผาไหม้ของภาคอุตสาหกรรม และกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ออกไปจากโลกได้เลย

ก่อนหน้านี้โลกเผชิญกับปรากฏการณ์ลาณีญาที่ทำให้อุณหภูมิเย็นลงมาเป็นเวลากว่า 3 ปี (กันยายน 2020 - กุมภาพันธ์ 2023) ระหว่างนั้นในปี 2022 ก็ได้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำ Tonga-Hunga ประเทศตองกาอย่างรุนแรง จนกลายเป็นสึนามิสูงกว่า 1 เมตรในชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ต่อมาในปี 2023 โลกก็ต้องเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญซ้ำอีก ทำให้เกิดการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์และความร้อนของโลกแบบทับซ้อน กระทั่งกรกฎาคม 2023 เดือนที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นช่วงเวลาที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) จึงได้ออกมาประกาศว่าเราเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling Era) อย่างเป็นทางการแล้ว โดยภาวะดังกล่าวได้ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างเป็นวงกว้าง อาทิ

1. การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแบบสุดขั้ว แม้อากาศจะร้อนจัดจนเกิดภัยแล้งและไฟไหม้ป่าที่รุนแรง แต่บางพื้นที่กลับมีฝนตกหนักจนเกิดเป็นอุทกภัย รวมถึงดินถล่ม

2. ปัญหาด้านสุขภาพ ภาวะโลกเดือดส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจของมนุษย์ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์กระทั่งชรา กล่าวคือ อากาศที่ร้อนจัดและมลภาวะทางอากาศทำให้เด็กในครรภ์คลอดก่อนกำหนด และทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร ซึ่งในระยะยาวยังส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก และมีแนวโน้มก่อให้เกิดโรคเครียดและซึมเศร้าอย่างรุนแรง นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังระบุว่าภาวะโลกเดือดเป็นสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการแพร่ระบาดของไวรัส เช่น ไข้เลือดออกไวรัสซิกา และโรคชิคนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ที่ระบาดอยู่ทั่วโลก และยังทำให้ หิวาตกโรค ไข้เลือดออก อาหารเป็นพิษ ระบาดหนักและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกด้วย

3. ระดับและอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น โลกเดือดทำให้ภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น 6-7 เท่า เทียบกับเมื่อ 25 ปีก่อน ส่งผลให้ระดับและอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น ท่วมที่อยู่อาศัยของประชากรบริเวณชายฝั่ง และส่งผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์ทะเล รวมถึงก่อให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอีกด้วย

4. สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศและภูมิศาสตร์อย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้สิ่งมีชีวิตจำนวนมาก ทั้งแมลง พืช และสัตว์ ที่ปรับตัวไม่ทันต่างก็ตายและสูญพันธุ์ลงไปรวดเร็วอย่างน่าตกใจ

5. ความยากจน การขาดแคลนอาหาร และการย้ายถิ่นฐานของประชากรโลก ภัยพิบัติก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย และชีวิต รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ อันเป็นแหล่งผลิตอาหารของมนุษย์ อีกทั้งความร้อนยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานกลางแจ้งและการอยู่อาศัยในชุมชนแออัด คาดการณ์ว่าในปี 2050 ประชากรโลกกว่า 1,000 ล้านคนอาจต้องย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศและความล้มเหลวในการแก้ปัญหา


โลกร้อน

เอาชีวิตรอดอย่างไรจากภาวะโลกเดือด?

จากข้างต้น เห็นได้ชัดว่ามนุษย์เพียงคนเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาโลกเดือดได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในส่วนของภาคประชาชนเราสามารถช่วยกันลดภาวะโลกเดือดได้ดังนี้

1. ลดขยะให้โลก ซึ่งอาจทำได้โดยหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก แล้วหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกใช้เสื้อผ้าที่ใส่ได้นาน ๆ ไม่เปลี่ยนบ่อยเกินไป (Slow fashion) ปรุงอาหารและรับประทานแต่พอดี ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะ (Zero food waste) เพราะสารอินทรีย์ในขยะเศษอาหาร เมื่อย่อยสลายจะเกิดก๊าซมีเทน ทำให้เกิดภาวะโลกเดือดมากกว่าก๊าซคาร์บอนฯ ถึง 25 เท่า

2. ช่วยกันประหยัดพลังงาน พลังงานน้ำ ไฟ น้ำมัน และพลังงานอื่น ๆ ต่างใช้ทรัพยากรในการผลิตจำนวนมาก รวมถึงกระบวนการผลิตยังมีการเผาไหม้ของฟอสซิล ซึ่งทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมหาศาล หากเราร่วมมือกันใช้พลังงานเหล่านี้อย่างประหยัด ก็จะเป็นการช่วยลดความเดือดของโลกลงได้มากทีเดียว

3. ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ถนนทั่วโลกแน่นขนัดไปด้วยยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันและไฟฟ้า หากเราร่วมมือกันใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือทางเดียวกันใช้รถร่วมกัน นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 88.94% แล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหารถติด และหากเดินทางไม่ไกลมากนัก ก็อาจเปลี่ยนมาปั่นจักรยานหรือเดิน ก็จะทำให้สุขภาพเราแข็งแรงขึ้นอีกด้วย

4. เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลก ต้นไม้ 1 ต้น สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัม/ปี หากเราช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลก ต้นไม้ก็จะช่วยเราผลิตออกซิเจนและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มอากาศบริสุทธิ์และลดมลภาวะให้กับเรา อีกทั้งยังเป็นร่มเงา ช่วยบังแสงแดด ลดการพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ ช่วยให้ประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้รากของต้นไม้ยังช่วยยึดเกาะดินให้แน่นและดูดซับน้ำในดิน ซึ่งช่วยลดอัตราการเกิดอุทกภัยและดินถล่มได้

5. สนับสนุนธุรกิจรักษ์โลก ภาคอุตสาหกรรมนับได้ว่าเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ขนาดใหญ่ของโลก การหันมาใช้สินค้าและบริการจากผู้ผลิตหรือให้บริการที่ใส่ใจรักษ์โลกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco - Actives) จะช่วยลดสภาวะเรือนกระจกได้อย่างมหาศาลและยั่งยืน




bottom of page