top of page

แอปฯ กู้เงินเถื่อน

ถูกหลอก เงินหาย ถ้ากู้ได้ไว ดอกเบี้ยสุดโหด เป็นหนี้หัวโต

2566 ปีที่หนี้ครัวเรือนของไทยสูงถึง 559,408 บาท/ครัวเรือน โดยร้อยละ 80.2 เป็นหนี้ในระบบ และร้อยละ 19.8 เป็นหนี้นอกระบบ หนึ่งในปัญหาที่ซ้ำเติมคนไทยก็คือ “แอปฯ กู้เงินเถื่อน” ที่สามารถหาดาวน์โหลดได้ง่ายทั้งใน Play Store และ App Store ซึ่งมีมากกว่า 300 แอปฯ







การสมัครที่ง่ายเพียงใช้แค่เบอร์โทรศัพท์และบัตรประชาชนใบเดียว ทำให้คนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ บางแอปฯ หลอกล่อให้เหยื่อโอนเงินชำระค่าธรรมเนียม แล้วหายไปโดยไม่ให้เงินกู้สักบาท บางแอปฯ ก็ให้เงินจริง แล้วเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพร้อมดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยโฆษณาเรียกเหยื่อด้วยข้อความเท็จ และระบุดอกเบี้ยต่ำกว่าที่เก็บจริง ซึ่งส่วนใหญ่มักมีรูปแบบดังนี้

  1. หักค่าธรรมเนียมจากยอดกู้ทันที เช่น เหยื่อกู้เงิน 2,000 บาท แต่มิจฉาชีพจะโอนเงินให้เพียง 1,200 บาท โดยอ้างว่าหักค่าธรรมเนียม เป็นต้น

  2. ดอกเบี้ยสูงกว่าที่ระบุไว้ในโฆษณา และมักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น โฆษณาระบุว่าดอกเบี้ยร้อยละ 20 ทำให้เข้าใจผิดเป็นร้อยละ 20 ต่อปี แต่เมื่อเก็บจริงคิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อสัปดาห์ ซึ่งเหยื่อต้องหาเงินมาชำระเป็นรายสัปดาห์ เป็นต้น

  3. ขยายระยะเวลากู้เพื่อให้เหยื่อเป็นหนี้นาน ๆ  เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการขยายเวลาชำระหนี้ ค่าติดตามทวงถาม และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

  4. แจ้งว่าระบบมีปัญหาเมื่อต้องการปิดยอดหนี้ เพื่อให้เหยื่อไม่สามารถหลุดพ้นจากสภาวะลูกหนี้ได้ และหาเงินมาใช้หนี้เรื่อย ๆ ซึ่งอาจถูกติดตามทวงหนี้และถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมถึงดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่เป็นหนี้

  5. มีการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อ โดยใช้แอปฯ ที่เหยื่อดาวน์โหลดมากู้เงิน มักเก็บข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ บัตรประชาชน และอาจเข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์ของเหยื่อ โดยเฉพาะเบอร์ติดต่อที่เหยื่อบันทึกไว้ เพื่อโทรหรือส่งข้อความไปประจานเหยื่อกับคนรู้จัก หรือข่มขู่ คุกคาม หากทวงเงินจากเหยื่อไม่ได้

 


คำแนะนำเมื่อตกเป็นเหยื่อแอปฯ กู้เงินเถื่อน
คำแนะนำเมื่อตกเป็นเหยื่อแอปฯ กู้เงินเถื่อน

หากตกเป็นเหยื่อของแอปฯ กู้เงินเถื่อนแล้ว คำแนะนำมีดังนี้

  1. ตั้งสติเมื่อถูกทวงเงินและหยุดจ่ายหนี้ เพราะถึงแม้จะจ่ายเพิ่มสักเพียงใด ยอดหนี้ก็ไม่มีวันหมด เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงและอาจมีกลลวงหลอกอย่างต่อเนื่อง

  2. หลีกเลี่ยงการเปิดอ่านข้อความ หรือรับโทรศัพท์เบอร์ที่ไม่รู้จัก เพราะอาจมาจากแอปฯ กู้เงินเถื่อนที่มาทวงหนี้

  3. พูดคุยกับคนรอบข้าง เพื่อเตรียมรับมือจากภัยคุกคามของมิจฉาชีพในคราบเจ้าหนี้ เพื่อให้คนรอบข้างได้เข้าใจตรงกันว่าเราตกเป็นเหยื่อของแอปฯ กู้เงินเถื่อน และกำลังพยายามแก้ไขปัญหา

  4. รวบรวมหลักฐานที่ถูกแอปฯ กู้เงินเถื่อนหลอกลวงแล้วแจ้งความ เพื่อให้ตำรวจสืบสวนหาข้อเท็จจริง และป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นตกเป็นเหยื่อ หรืออาจโทรไปที่เบอร์ 1559 ซึ่งเป็นสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่รับแจ้งการหลอกลวงออนไลน์ สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง

  5. หยุดก่อหนี้เพิ่ม พิจารณาภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันของตน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ไม่กู้เงินเพิ่มเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ เพราะจะยิ่งทำให้เป็นหนี้อย่างไม่สิ้นสุด อาจพิจารณาติดต่อสายด่วนแก้หนี้ 1213 หรือ สายด่วนชนะหนี้ 1443 เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม

  6. ลบแอปฯ กู้เงินเถื่อน เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเรา

  7. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในบัญชีโซเชียลมีเดีย และเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวเรา แล้วทำการคุกคามหรือขู่กรรโชกได้อีก


วิธีป้องกันการถูกหลอกจากแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมาย
วิธีป้องกันการถูกหลอกจากแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมาย

เราสามารถป้องกันการถูกหลอกให้กู้เงินจากแอปฯ ที่ผิดกฎหมายได้ ดังนี้

  1. ไม่ดาวน์โหลดแอปฯ ที่อยู่ภายนอก Play Store และ App Store

  2. ก่อนดาวน์โหลดแอปฯ จาก Play Store หรือ App Store ควรตรวจสอบว่าผู้ให้บริการแอปฯ เงินกู้ดังกล่าว ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ ที่ https://app.bot.or.th/BotLicenseCheck หรือ คลิกที่นี่ เพื่อดูรายชื่อผู้ให้บริการเงินกู้ที่ถูกกฎหมาย

  3. ตรวจสอบจาก Call Center, เว็บไซต์ หรือบัญชีโซเชียลมีเดียที่เป็นทางการของธนาคาร / บริษัทที่เราประสงค์จะกู้เงินว่าเป็นผู้ให้บริการแอปฯ นั้น ๆ จริงหรือไม่ เพราะมิจฉาชีพอาจแอบอ้างใช้ชื่อหรือโลโก้ได้

  4. ในแอปฯ ที่ถูกฎหมายจะระบุรายละเอียดของการกู้เงินอย่างชัดเจน เช่น จำนวนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย (ตามแต่ละประเภทสินเชื่อที่ไม่เกินกว่ากฎหมายกำหนด) ตารางการจ่ายชำระ ค่าธรรมเนียม เบี้ยปรับ และเงื่อนไขต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งไม่เรียกเก็บค่าดำเนินการ หรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ก่อนทำสัญญา



อ้างอิง

  1. กรมประชาสัมพันธ์. (2566). ผลสำรวจหนี้ครัวเรือนปี 2566 เพิ่มขึ้นสูงกว่า 500,000 บาทต่อครัวเรือน คาดปีหน้าจะพุ่งสูงมากยิ่งขึ้น. [ออนไลน์]. สืบค้นวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566. เข้าถึงได้จาก https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230727151616389

  2. สภาองค์กรของผู้บริโภค. (2566). ทำอย่างไร? เมื่อตกเป็นเหยื่อแอปฯ กู้เงินเถื่อน. [ออนไลน์]. สืบค้นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.tcc.or.th/tcc_media/illegal-money-loan-apps/

  3. Krungsri The COACH. (2566). “แอปกู้เงินออนไลน์” สำหรับคนรุ่นใหม่ กู้เองได้ อนุมัติไวได้เงินจริง. [ออนไลน์]. สืบค้นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/loan/borrowing/know-personal-loan-app-for-genz

  4. Yut. (2566). Facebook page: แอพเงินกู้เถื่อน เตือนภัย มิจฉาชีพ. [ออนไลน์]. สืบค้นวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/profile.php?id=100075905604621

bottom of page