top of page

ESG กับการบริหารจัดการดิน: กุญแจสู่ความยั่งยืนของโลก

ดินที่ดีคือรากฐานของอนาคตที่ดี และ ESG คือเครื่องมือที่ช่วยให้เรารักษาดินได้อย่างยั่งยืน


“ดิน” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และระบบนิเวศของโลก ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด แต่ยังช่วยดูดซับคาร์บอน ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรักษาวงจรน้ำบนโลกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมโทรมของดินที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม การทำเกษตรกรรมที่ไม่ยั่งยืน และการใช้ที่ดินโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความสมดุลของโลก ซึ่งในบริบทของ ESG (Environmental, Social, Governance) หรือการบริหารจัดการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลนั้น จัดได้ว่า “ดิน” เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับทุกมิติของความยั่งยืน


E: Environmental - สิ่งแวดล้อม

ดินมีบทบาทสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมในหลายแง่มุม อาทิ

1. ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอน ดินเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนธรรมชาติ โดยปริมาณคาร์บอนในดินที่พอดี จะช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2. ช่วยสร้างสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพ ดินเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่ทำให้ระบบนิเวศเกิดความสมดุล

3. ช่วยป้องกันการกัดเซาะ การบริหารจัดการดินที่ดี จะช่วยลดการชะล้างของหน้าดินและป้องกันการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์

               ในแง่ของ ESG องค์กรต่างๆ สามารถดำเนินการอนุรักษ์ดินได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. การสนับสนุนเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เช่น การปลูกพืชหมุนเวียนและลดการใช้สารเคมี

2. การฟื้นฟูสภาพดินที่เสื่อมโทรม เช่น โครงการปลูกป่าและฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ

3. การลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยตรวจสอบและรักษาคุณภาพของดิน


S: Social - สังคม 

               ดินเป็นทรัพยากรที่เชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรกรรมที่คนส่วนใหญ่อาศัยผลิตผลจากดินโดยตรง การบริหารจัดการดินที่ดีจึงเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในมิติของ ESG องค์กรสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้โดย

1. การจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการอนุรักษ์ดินและเพิ่มผลผลิตแบบยั่งยืนให้แก่เกษตรกร

2. การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้ใช้ทรัพยากรดินอย่างรู้คุณค่า

3. การส่งเสริมการสร้างงานในชุมชนผ่านโครงการที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูดิน


G: Governance - ธรรมาภิบาล 

               ธรรมาภิบาลที่ดีเป็นหัวใจสำคัญในการสนับสนุนการบริหารจัดการดินที่ยั่งยืน การกำกับดูแลที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบช่วยส่งเสริมการจัดการดินในระยะยาว ในด้าน ESG การนำธรรมาภิบาลมาบูรณาการกับการจัดการดินอาจประกอบด้วย

1. การกำหนดนโยบายการใช้ที่ดินที่สมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์

2. การจัดทำรายงานการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมดิน

3. การสนับสนุนกฎหมายหรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดินอย่างยั่งยืน

…………………………………………………………………………..

               ดินคือทรัพยากรที่มีบทบาทสำคัญต่อทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลองค์กร การบูรณาการแนวคิด ESG เข้ากับการบริหารจัดการดินไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อโลก แต่ยังสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร และสร้างสังคมที่เท่าเทียมมากขึ้น องค์กรและชุมชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของดินในมิติของ ESG จะเป็นแรงผลักดันสำคัญสู่การพัฒนาโลกที่สมดุลและยั่งยืน

"ดินที่ดีคือรากฐานของอนาคตที่ดี และ ESG คือเครื่องมือที่ช่วยให้เรารักษาดินได้อย่างยั่งยืน"



บรรณานุกรม

  • พิพัฒน์ ไทยกล้า และคณะ. (2553). ความเสื่อมโทรมของที่ดิน และการจัดการแก้ไข. กรุงเทพฯ: กรมพัฒนาที่ดิน.

  • สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง. (2565). การกักเก็บคาร์บอนในดินกับสภาวะโลกร้อน. [ออนไลน์]. สืบค้นวันที่ 21 พฤศจิกายน2567. เข้าถึงได้จาก https://www.hrdi.or.th/articles/Detail/1541.

  • สมมต สมบูรณ์ และคณะ. (2554). วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการจัดการทรัพยากร. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

bottom of page